ลักษณะเรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยภาคกลางที่เป็น เรือน หอ ของครอบครัวที่ก่อสร้างลงตัวขึ้นใหม่ ประกอบด้วยเรือนนอนซึ่งมีห้องนอนและห้องโถงหนึ่งหลังเรือนมี 3 ช่วงเสา 2 ช่วงเสาเป็นห้องนอน อีก 1 ช่วงเสาเป็นห้องโถง มีไว้สำหรับเลี้ยงพระ รับแขก รับประทานอาหาร และพักผ่อน เมื่อครอบครัวขยายตัว ลูกชายหรือลูกสาวโตขึ้นและมีครอบครัว โดยตกลงว่าจะอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว พ่อแม่จะปลูกเรือนให้อยู่อีกหลังหนึ่งต่างหาก อาจสร้างขึ้นตรงกันข้ามกับเรือนพ่อแม่ โดยมีชานเป็นตัวเชื่อม เกิดเป็นเรือนหมู่ขึ้น เรือนหมู่คือ เรือนปลูกอยู่ในที่เดียวกันมีหลายหลัง ในระยะต่อมาเมื่อมีความเจริญแล้ว อาจมีนอกชานแล่นกลางติดต่อกันได้ตลอด เรือนเหล่านี้หลังหนึ่งเป็นเรือนเดิมซึ่งพ่อแม่อยู่ นอกนั้นเป็นเรือนหลังย่อมกว่า เป็นที่อยู่ของบุตรสาวที่ออกเรือนไปแล้ว ส่วนจำนวนเรือนว่ามีกี่หลังนั้น ก็สุดแล้วแต่จำนวนบุตรสาวที่มีเรือนไปแล้ว โดยจะปลูกเรียงกันถัดจากเดิมออกมาทางด้านหน้าทั้งสองข้าง เรือนหลังเดิมเรียกว่า “หอกลาง” ส่วนเรือนนอกเรียกว่า “หอรี” เพราะปลูกไปตามยาว
ถ้ามีเรือนปลูกอีกหลังหนึ่งเป็นด้านสกัดก็เรียกว่า “หอขวาง” ตามปกติมักกั้นฝาทั้งสามด้าน เปิดโล่งไว้แต่ด้านหน้า สำหรับเป็นที่รับแขกเป็นทำนองเดียวกับเรือน “พะไล” ถ้าเรือนหมู่นี้เป็นของคหบดี มักมีเรือนโถงปลูกขึ้นหลังหนึ่งที่ตรงกลางชาน สำหรับเอาไว้นั่งเล่นหรือใช้เป็นสถานที่เวลามีงาน เช่น สวดมนต์เลี้ยงพระ
สำหรับหอนั่งไม่จำเป็นต้องปลูกอยู่กลางชานเสมอไป จะใช้เรือนที่ยังไม่มีคนอยู่และเปิดเป็นห้องโถงใช้เป็นหอนั่งก็ได้ นอกจากนี้อาจมีเรือนหลังเล็กๆ สำหรับเลี้ยงนก ซึ่งปลูกไว้ตรงไหนก็ได้ตามความเหมาะสมเรือนแบบนี้เรียกว่า “หอนก”
ส่วนด้านหลังของหอนั่งมักปลูกเป็นร้านต้นไม้ส่วนใหญ่นิยมปลูกไม้เถาที่ ดอกมีกลิ่นหอม อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปเรือนไทยภาคกลางนิยมปลูกเป็น 3 ห้องนอน และไม่นิยมปลูกเรือน 4 ห้อง เพราะถือว่าเรือนอยู่สี่ห้องได้เดือดร้อนรำคาญ ถ้าเป็นคหบดีนิยมปลูกเรือนตามตะวันเป็นเรือนแฝด มีชานบ้านแล่นกลาง หลังหนึ่งเป็นเรือนพักอาศัยมี 3 ห้อง เป็นห้องนอน ห้องเก็บของ และห้องพระ อีกหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นก็ทำแบบเดียวกันให้เป็นที่อยู่ของบิดามารดาหรือปู่ ย่าตายาย กลางชานที่แล่นกลางเรือนนิยมสร้างเป็นเรือนโปร่ง บนนอกชานนั้นครึ่งหนึ่งเรียกกันว่า “หอนั่งหรือหอกลาง” ใช้เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อนยามเสร็จธุระการงานในยามเย็นหรือยามค่ำคืนก่อน จะเข้านอน ส่วนเรือนครัวจะเชื่อมต่อกับเรือนนอนด้วยชาน ชายคาของเรือนทำรางไม้รองน้ำฝน ปลายรางมีตุ่มตั้งไว้ 1 ลูก เรือนครัวนี้มีหน้าต่างด้านข้างและด้านหน้าเหนือเตาไฟ เพื่อเปิดระบายควันไฟยามทำครัว มิให้ควันไฟจับรมควันจนดำ
องค์ประกอบต่างๆ ของเรือนไทยภาคกลางมีดังนี้
งัว ไม้ท่อนกลมยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร ใช้ไม้ทองหลางวางขวางกับปลายเสา ทำหน้าที่เป็นหมอนรองรับน้ำหนักจากกงพัดถ่ายลงดิน ลักษณะการทำงานเหมือนกับฐานรากของอาคารในปัจจุบัน ซึ่งมีไว้เพื่อกันเรือนทรุด
กงพัด ไม้เหลี่ยมขนาด 5X15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร สอดในรูซึ่งเจาะที่โคนเสาเรือน หรือจะใช้คู่ตีขนาบขวางกับเสา โดยบากเสาให้เป็นบ่ารองรับยึดด้วยสลักไม้แสม เส้นผ่าศูนย์กลางสลักประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายทั้งสองของกงวางอยู่บนงัวทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนักจากเสาลงสู่งัว
แระ (ระแนะ) แผ่นไม้กลมแบนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30-50 เซนติเมตร หนาประมาณ 5-7 เซนติเมตร ใช้วางก้นหลุมทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนักจากเสาสู่พื้นดิน กันเรือนทรุด นิยมใช้ไม้ทองหลางแระและกงพัด-งัวทำหน้าที่เป็นฐานรากอย่างเดียวกัน ถ้าใช้กงพัด-งัวก็ไม่ใช้แระ ซึ่งกงพัด-งัวมักใช้ในบริเวณที่ลุ่มริมน้ำ เพราะรับน้ำหนักได้ดีกว่าแระ แต่การใช้แระสะดวกกว่ากงพัด-งัว
เสาเรือน ไม้ท่อนกลมยาวตลอดลำต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนประมาณ 25 เซนติเมตร ที่ปลายประมาณ 20 เซนติเมตร ใช้ไม้เต็ง รัง มะค่า หรือแดง การคัดเลือกเสาต่างๆ ที่จะนำมาเป็นเสาเรือนต้องเป็นเสาที่ดี มีตาเสาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องถูกโฉลก การเจาะรูเสาเพื่อใส่รอดหรือใส่เต้าก็ต้องมีวิธีที่ถูกต้องในการวัด เจ้าของเรือนจะได้อยู่เย็นเป็นสุข
เสาเรือนสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
เสาหมอ คือเสาที่ใช้รองรับรอด และราเฉพาะในบริเวณพื้นที่นั้นทรุดหรือผุ มีขนาดเล็กกว่า เสาจริงเล็กน้อย และช่วงสั้น เสาหม้อสูงจากพื้นดินถึงระดับใต้พื้นดิน
เสานางเรียง คือเสาที่รองรับหลังคากันสาดที่ยื่นยาวมาก โดยจะอยู่ทางด้านข้างของเสาเรือน เสานางเรียงนี้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับไม้ค้ำยัน
เสาเอก เป็นเสาต้นแรกของเรือนที่จะยกขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีทางไสยศาสตร์ มีการกำหนดฤกษ์ยาม ทิศทาง ตามแต่หมอจะเป็นผู้ดูให้
เสาโท คือเสาเรือนที่ยกขึ้นเป็นอันดับที่สองต่อจากเสาเอก แต่การยกต้องเวียนไปทางขวามือเสมอ
เสาตรี เสาพล เป็นเสาทั่วไปที่นับเวียนขวาเลยเสาเอกและเสาโทไปแล้ว
เสาตอม่อ คือเสาจากใต้ระดับพื้นดินถึงระดับพื้นชาน เป็นเสาที่ไม่สูงเลยจากพื้นขึ้นไป
รอด เป็นไม้สี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 5X20-25 เซนติเมตร นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง เป็นต้น ทำหน้าที่รองรับพื้น นั่งอยู่บนเสาที่เจาะทะลุกึ่งกลางทั้งสองด้าน และยื่นเลยเสาออกไปข้างละประมาณ 20-25 เซนติเมตร ในปัจจุบันเรียกส่วนนี้ของโครงสร้างเรือนว่า “คาน”
รา ไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 5X20-25 เซนติเมตร ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง ทำหน้าที่เช่นเดียวกับรอด แต่แขวนอยู่กับพรึงซึ่งช่วยให้พื้นแข็งแรง ไม่ตกท้องช้าง
ตง เรือนบางหลังหาไม้พื้นยาวไม่ได้ ต้องใช้พื้นสั้นขวางกับตัวเรือน จำเป็นต้องมีตงมารองรับ ตงคือไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 4X5 เซนติเมตร ระยะห่างประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง มะค่า หรือแดง วางพาดระหว่างช่วงรอด ถ้าเรือนปูพื้นขวางและมีตงมักไม่ใช้รา
พรึง ไม้สักสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 5X20 เซนติเมตร ทำหน้าที่รัดเสาส่วนที่ติดกับพื้นทั้งสี่ด้านให้อยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดและ ยังทำหน้าที่รับฝาตลอดทุกด้าน พรึงติดอยู่กับเสาด้วยตะปูจีน ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากรา
พื้น ไม้สักเหลี่ยมแบนขนาดประมาณ 5X40-45-50 เซนติเมตร เรือนไทยนิยมไม้พื้นกว้างมาก ปูบนตงหรือบนรอด เพื่อเป็นที่พักผ่อนอยู่อาศัย ระหว่างแผ่นต่อแผ่นของพื้นมีเดือยไม้แสมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ตอกยึดพื้น ระยะห่างเดือยประมาณ 1-2 เมตร บางคนใช้เดือยแบนขนาด 1X2.5 เซนติเมตร เรียกว่า “ลิ้นกระบือ” สำหรับพื้นที่ใช้ปูนอกชานนั้น จะปูเว้นร่องให้น้ำตกเพื่อกันพื้นผุ ร่องพื้นชานนี้มีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร
ฝักมะขาม ไม้ขนาด 3.5X3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร รูปร่างโค้งงอคล้ายฝักมะขามตอกติดกับเสาใต้พื้นเรือนทำหน้าที่รองรับแผ่น พื้นที่ชนกับเสาและขาดจากกัน ไม่มีส่วนของรอดรองรับจึงใช้ฝักมะขามรับพื้นแผ่นนี้แทนรอด
ฝา เป็นผืนผนังที่ประกอบกันเข้าเป็นแผ่นจากชิ้นส่วนเล็กๆ ของไม้จากหรือไม้ใบบางชนิด โดยมีโครงขอบฝาเป็นไม้จริง หรือไม้ไผ่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเปลือกหุ้มที่ว่างภายในห้อง ทำให้เกิดขอบเขต ฝาส่วนด้านสกัด (ขื่อ) หัวท้าย เรียกฝาทั้งแผงว่า “ฝาอุดหน้ากลอง” หรือ “ฝาหุ้มกลอง” ส่วนฝากั้นห้องภายในระหว่างห้องนอกกับห้องโถงเรียกว่า “ฝาประจันห้อง”
กันสาด เป็นส่วนหนึ่งของหลังคาที่ยื่นออกไปโดยรอบ ลดระดับจากหลังคาลงมา แต่ทำมุมน้อยกว่าหลังคา กันสาดประกอบไปด้วยจันทันกันสาด แปกลอน และวัสดุมุง ปลายจันทันข้างหนึ่งตอกยึดอยู่กับเต้าด้วยสลักไม้ (ค้างคาว) อีกข้างหนึ่งรองรับด้วยค้ำยันหรือเสานางเรียง กันสาดนี้ทำหน้าที่ป้องกันแดดส่องและฝนสาด
เต้า ไม้เหลี่ยมขนาด 5X10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร โดยสอดทะลุเสาห่างจากปลายเสา 50-60 เซนติเมตร ทำหน้าที่ยื่นจากเสาออกไปเพื่อรับน้ำหนักเชิงชายและปลายของหลังคาและเป็นที่ ยึดเกาะของจันทันกันสาด เต้าที่อยู่ตรงมุมเรือนมีอยู่ 2 ตัวเรียกว่า “เต้ารุม” เต้าที่ไม่อยู่ตรงมุมและมีตัวเดียวเรียกว่า “เต้าราย” เต้าจะมีปลายข้างหนึ่งเล็กและโคนใหญ่ เมื่อสอดเต้าผ่านเสาที่เจาะรูพอดีกับเต้าเสาและเต้าระดับแน่นพอดีระยะที่ ต้องการ
สลัก-เดือย เป็นไม้สี่เหลี่ยมสอดทะลุระหว่างโคนเต้ากับจันทัน กันสาด ทำหน้าที่ยึดเกาะเต้ากับจันทันกันสาดให้ติดกัน มีขนาด 1.5-2X5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร สลักที่ยื่นเลยเต้าขึ้นไปเสียบด้วยเดือยไม้ขนาด 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10X12 เซนติเมตร
ค้างคาว เป็นไม้เหลี่ยมกว้างประมาณ 8X10 เซนติเมตร เจาะช่องกลางกว้างกว่าขนาดของจันทันกันสาดและเต้าเล็กน้อย เพื่อให้องค์ประกอบทั้งสองสามารถสอดผ่านค้างคาวได้ แล้วใช้ยึดด้วยเดือยไม้ขนาด 2 เซนติเมตร ยาว 15 เซนติเมตร ทำหน้าที่เหมือนสลักเดือย
หัวเทียน เป็นส่วนหนึ่งของเสาอยู่ตรงปลาย ควั่นเป็นแท่งกลมยาวประมาณ 10X11 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดปลายขื่อให้ติดกับเสา โดยเจาะแผ่นขื่อเป็นรูกว้างกว่าหัวเทียนพอสวมเข้าได้ เพื่อช่วยยึดหัวเสาทั้งสองข้าง
ขื่อ เป็นไม้สักแผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 5X20 เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดหัวเสาทั้งสองข้างเข้าหากัน เจาะรูที่ปลายทั้งสองของขื่อให้กว้างกว่าหัวเทียนเล็กน้อย และสวมขื่อเข้ากับหัวเทียน ขื่อมี 2 ชนิด ได้แก่ ขื่ออยู่กลางห้องมีขนาดเท่ากับหัวเสา และขื่ออยู่หัวท้ายของเรือนติดกับฝาหุ้มกลอง มีขนาดใหญ่กว่าหัวเสาเท่ากับ 5X25 เซนติเมตร ปลายบนด้านนอกของขื่อนี้ปาดเฉียงลงเพื่อรับกลอนปีกนก เรียกขื่อนี้ว่า “ขื่อเพล่” ซึ่งมีหน้าที่ช่วยหยุดหรือจับฝาอุดหน้ากลองด้านบน ซึ่งฝาด้านยาวนั้นแปหัวเสาทำหน้าที่ช่วยยึดอยู่ 2
ตั้ง มี 2 ชนิดคือ 1. ไม้เหลี่ยมแบนขนาดโคน 5X20 เซนติเมตร ปลายมีขนาด 5X12 เซนติเมตร ทำหน้าที่ยึดอกไก่กับขื่อปลายล่างของดั้งติดกับขื่อโดยเข้าเดือยเข็น ทั้งหมดนี้เรียกว่า “ตั้งแขวน” 2. ไม้กลมยาวคล้ายเสา เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางรอดยาวถึงขื่อ เลยขื่อเป็นชนิดแบน เรียกส่วนกลมของดั้งนี้ว่า “เสาดั้ง”
อกไก่ ไม้สักเหลี่ยมรูปข้าวหลามตัด ยาวตลอดเรือนและยื่นหัวท้ายอีกข้างละประมาณ 60-75 เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดหน้าจั่ว ดั้งและจันทัน ตั้งอยู่บนยอดสุดของหลังคาและยังให้หลบหลังคานั่งทับ
จันทัน ไม้เหลี่ยมแบนขนาด 5x25 เซนติเมตร แต่งรูปอ่อนช้อยตามแบบ อยู่ระหว่างสองข้างของสามเหลี่ยมโครงหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนักของหลังคาที่ถ่ายทอดมายังกลอน แป และจันทัน ตามลำดับ จันทันนี้มีอยู่เฉพาะส่วนของห้องที่ไม่มีหน้าจั่ว และใช้กับดั้งแขวนเท่านั้น ส่วนห้องที่มีหน้าจั่วให้แผงหน้าจั่วรับน้ำหนักหลังคาแทนจันทัน
แป เฉพาะเรือนไทยมี 2 ชนิด คือ 1. แปหัวเสา ไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 10 x 10 เซนติเมตร ยาวตลอดหลังคา ทำหน้าที่ยึดหัวเสาระหว่างห้องต่อห้อง โดยการวางทับขื่อรับน้ำหนักจากกลอน แปหัวเสายังทำหน้าที่ยึดและรับน้ำหนักของแผงหน้าจั่ว ช่วยเป็นส่วนหยุดของฝาตอนบนด้านยาวของเรือน 2. แปลาน ไม้เหลี่ยม 5 X 10 เซนติเมตร พาดอยู่ระหว่างจันทันกับแผงหน้าจั่วยาวตลอดเรือนเท่ากับอกไก่ทำหน้าที่รับ น้ำหนักจากกลอนถ่ายสู่จันทัน
กลอน ไม้เหลี่ยมแบนขนาด 1.5 X 7.5 เซนติเมตร วางขวางพาดอยู่กับแป ระยะห่างระหว่างกลอนประมาณ 40 เซนติเมตร กลอนมีอยู่ 2 ชนิด คือ 1. กลอนสำหรับหลังคาจาก เป็นกลอนเรียบเจาะรูข้างหนึ่ง ระยะห่างของรู ประมาณ 10 เซนติเมตร สำหรับใช้ตอกร้อยมัดกับจาก ติดกับแปด้วยการตอกสลักไม้แสม ปลายด้านบนเข้าเดือยหางเหยี่ยวติดกับอกไก่ ปลายด้านล่างตอกติดกับสะพานหนู 2. กลอนสำหรับมุมหลังคากระเบื้องเรียกว่า “กลอนขอ” เป็นรูปหยักบากเพื่อให้ระแนงวางทับ ระยะห่างของช่วงบากประมาณ 10-12 เซนติเมตร มีทั้งแบบบากทุกช่วงกับแบบบาก 1 ช่วง เว้น 1 ช่วง สลับกันไป กลอนขอนี้ตอกติดกับแปโดยตะปูเหลี่ยมแบนแต่ไม่ตอกทุกช่วง ตอกเป็นจังหวะห่างๆ
ระแนง ไม้เหลี่ยมขนาด 2.5 X 2.5 เซนติเมตร วางตามยาวของหลังคา ขนานกับอกไก่ใช้สำหรับหลังคาเรือนที่มุงด้วยกระเบื้องระยะห่างของระแนง ประมาณ 10-12 เซนติเมตรวางบนกลอนขอ ทำหน้าที่รองรับกระเบื้อง และถ่ายน้ำหนักลงยังกลอน ยึดติดกับกลอนโดยใช้ไม้แสมเป็นสลักเดือย
เชิงชาย ไม้เหลี่ยมขนาด 5 X 20 เซนติเมตร ติดอยู่ที่ปลายเต้า ยาวรอบชายคา ทำหน้าที่รับตะพานหนู และรับน้ำหนักทั้งหมดจากปลายกลอน
ตะพานหนู ไม้เหลี่ยมแบนขนาด 1.5X7.5 เซนติเมตร ติดอยู่ด้านบนของเชิงชาย และยึดปลายกลอน ใช้ช่วยรับส่วนยื่นของกระเบื้อง หรือจากให้พ้นแนวของเชิงชาย ทำให้น้ำฝนไหลพุ่งออกไปด้านนอก จึงไม่ทำให้เชิงชายผุกร่อน
ปั้นลม คือ แผ่นไม้แบนขนาดหนา 2.5-3 เซนติเมตร ติดอยู่ปลายแปหัวเสา แปลาน อกไก่ มีหน้าที่ปิดชายคาด้านสกัดหัวและท้ายกันลมตีจากหรือกระเบื้องส่วนล่างของ ปั้นลม แต่งรูปเป็นแบบตัวเหงาเรียกว่า “เหงาปั้นลม” หรือแต่งเป็นรูปหางปลา การติดใช้ตะปูตอกจากใต้แปทะลุไปติดปั้นลม
หน้าจั่ว แผงไม้รูปสามเหลี่ยม สร้างขึ้นจากองค์ประกอบของชิ้นไม้ในลักษณะต่างๆ ใช้ประกบปิดตรงส่วนที่เป็นโพรงของหลังคาทางด้านสกัดหรือด้านชื่อของเรือน เพื่อป้องกันลม แดด และฝน มีหลายลักษณะดังนี้
จั่วลูกฟัก หรือจั่วพรหมพักตร์ แบ่งหน้าจั่วโดยมีแนวนอนและแนวตั้งสลับกัน คล้ายฝาปะกน แต่ขนาดใหญ่กว่าและขยายไปตามแนวนอน
จั่วรูปพระอาทิตย์ มีรูปคล้ายพระอาทิตย์ครึ่งดวง เส้นรัศมีพระอาทิตย์ทำด้วยไม้แบน และเว้นช่องให้อากาศถ่ายเท นิยมใช้กับจั่วเรือนครัวไฟ
จั่วใบปรือ ตัวแผงประกอบด้วยแผ่นไม้ขนาดเล็กเรียงซ้อนทางแนวนอน นิยมใช้กับเรือนนอนเรือนครัวไฟ ถ้าเป็นเรือนครัวไฟส่วนบนมักเว้นช่องให้อากาศถ่ายเทได้
หลังคา เป็นชิ้นส่วนที่เป็นผืน ทำหน้าที่กันแดดและบังฝนให้กับตัวเรือน ใช้วัสดุหลายอย่างประกอบกันเข้า ได้แก่ กระเบื้อง จาก แฝก และหญ้าคา วัสดุเหล่านี้หาได้ง่ายตามท้องถิ่นต่างๆ ถ้ามุงด้วยกระเบื้องจะดูดซึมความร้อนมากกว่ามุงด้วยจากหรือแฝก สำหรับเรือนที่มุงด้วยกระเบื้อง จาก แฝก ส่วนบนสุดของหลังคาคือ ส่วนสันอกไก่จะมีรอยร่อง จำเป็นต้องมีชื้นส่วนปิดรอยนี้กันน้ำฝนรั่ว ถ้ามุงด้วยกระเบื้องใช้กระเบื้องครอบเป็นส่วนปิด หากมุงด้วยจากหรือแฝก ใช้หลบจากหรือหลบแฝกเป็นส่วนครอบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนรั่วไหลเข้ามา
ไขรา ส่วนของหลังคาที่ยื่นจากฝาหรือจากหน้าจั่วออกไป หากไขราอยู่บริเวณกันสาดยื่นจากฝาเรียกว่า “ไขรากันสาด” หากตรงหน้าจั่วเรียกว่า “ไขราหน้าจั่ว” หรืออยู่ตรงปีกนกเรียกว่า “ไขราปีกนก”
คอสอง ส่วนบนของฝา ระยะต่ำจากแปหัวเสาหรือชื่อลงมาประมาณ 50 เซนติเมตรเป็นช่องลูกฟักสี่เหลี่ยม โดยรอบของเรือน
ร่องตีนช้าง ส่วนล่างของฝาระหว่างบนพรึงถึงกรอบเช็ดหน้า (ใต้หน้าต่าง) เป็นช่องลูกฟักสี่เหลี่ยมคล้ายคอสอง ระยะของร่องตีนช้างประมาณ 44 เซนติเมตร มีรอบตัวเรือน 3
ช่องแมวรอด ช่องระหว่างห้องนอนกับพื้นระเบียง หรือ ช่องว่างระหว่างพื้นระเบียงกับพื้นชาน ซึ่งมีระยะห่างประมาณ 40 เซนติเมตร มีความยาวตลอดตัวเรือน เพื่อเป็นที่ให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุนขึ้นบนเรือน และเป็นที่ทำให้ลมภายในไหลผ่านช่องนี้ได้ โดยใช้ไม้ขนาด 1.5 X 7.5 เซนติเมตร ตีอันเว้นอันปิดช่อง กันคนและสิ่งของตก
ประตูห้อง เป็นทางเข้าออกระหว่างห้องนอน ห้องครัวกับระเบียง ประกอบไปด้วยกรอบเช็ดหน้า บานประตูและเดือย ธรณีประตูดาลคู่ ประตูนี้ส่วนล่างกว้างและส่วนบนขอบเล็กกว่า
ประตูรั้วชาน เป็นทางเข้าออกระหว่างชานกับบริเวณบ้านโดยมีบันไดเป็นตัวกลาง ลักษณะและส่วนประกอบเหมือนประตูห้อง แต่มีซุ้มหลังคาข้างบนกันฝนสาดมาถูกบานประตู และเน้นทางขึ้นให้มีความสำคัญและน่าดูยิ่งขึ้น
หน้าต่าง เป็นส่วนประกอบของฝาเรือนที่ทำติดเป็นส่วนเดียวกัน แต่เป็นช่องเจาะให้แสงสว่าง อากาศ ลมผ่านเข้าได้ รวมทั้งเป็นช่องให้สายตาของผู้อยู่ภายในห้องมองออกไปภายนอก ช่องนี้สามารถควบคุมการเปิดปิดได้โดยตัวบานซึ่งทั้งหมดประกอบไปด้วย
กรอบเช็ดหน้า คือ วงขอบรอบนอกของบาน (วงกบ) เป็นไม้เหลี่ยมแบนขนาด 3.5 X 12.5 เซนติเมตร วางประกอบตามส่วนแบนเข้ามุม 45 องศา เซาะร่องบัวประดับ ส่วนล่างกว้างกว่าส่วนบน
ตัวบาน ใช้แผ่นไม้หนาประมาณ 3 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 แผ่นต่อ 1บาน มุมสุดบนและล่างมีเดือยเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร (แบบเดือยไม่ทะลุ) และยาว 6 เซนติเมตร (แบบเดือยทะลุ) สอดใส่ในรูของธรณีหน้าต่างแทนบานพับ
ธรณีหน้าต่าง ไม้เหลี่ยมขนาดหนา 3-5 X 10 เซนติเมตร ยาวตลอดความกว้างของหน้าต่างและเลยออกไปข้างละ 10 เซนติเมตร ติดกับผ้าด้วยตะปูจีน หรือลิ่มไม้แสม
หย่อง เป็นแผงไม้ที่ติดอยู่ตรงส่วนล่างของช่องหน้าต่าง แกะเป็นลวดลายหรือฉลุโปร่ง หนาประมาณ 2 เซนติเมตร สูง 20-25 เซนติเมตร
อกเลา ไม้เหลี่ยมสันขนาด 3 X 5 เซนติเมตร (เฉพาะหน้าต่าง) ยาวตลอดบาน ติดอยู่กับบาน ติดอยู่กับบานหน้าต่างบานหนึ่ง เพื่อบังช่องหน้าต่างทั้งสอง
ดาลเดี่ยว ทำหน้าที่เป็นกลอนติดอยู่ส่วนกลางของบานหน้าต่าง เป็นไม้เหลี่ยมขนาด 3 X 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีไม้รัดทาบกับตัวบานข้างละอัน
กบ เป็นกลอนของหน้าต่าง แต่ติดอยู่ส่วนล่าง เป็นไม้แบนขนาดหนา 1 X 5 เซนติเมตร สูงประมาณ 10 เซนติเมตร เจาะธรณีหน้าต่างให้เป็นร่อง เมื่อปิดบานสนิทแล้วจึงใส่กบลงไป
กระได ส่วนประกอบของไม้มีลูกขั้น (ตามนอน) กับแม่กระได (ตามตั้ง) ใช้สำหรับขึ้นจากพื้นดินไปสู่ชาน กระไดแบบเดิมวางพาดกับพื้นและขอบพรึง ทำชักขึ้นเก็บบนนอกชานได้เมื่อเวลาค่ำคืน เพราะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายหรือขโมย ส่วนประกอบใช้ไม้จริงหรือไม้ไผ่ ลูกขั้นกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร หรือไม้เหลี่ยมลูกขั้น 3.5-5 X 20 เซนติเมตร เจาะทะลุสอดเข้าเป็นขั้นๆ ระยะห่างพอก้าวขึ้นได้สะดวกกว่าแบบเก่า มีลักษณะเป็นแผ่นไม้แบนขนาด 3.5-5 X 20 เซนติเมตร แม่กระไดขนาด 5 X 20 เซนติเมตร
พระยาอนุมานราชธนกล่าวถึงประเพณีการปลูกเรือนสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยว่า จะปลูกสร้างกันอย่างไรแล้วแต่ภูมิประเทศ ท้องถิ่นดินฟ้าอากาศ วัสดุสำหรับปลูกสร้าง ความเป็นอยู่และคติความเชื่อ ซึ่งเป็นเครื่องบังคับให้เรือนไทยสมัยเก่ามักปลูกเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นมีใต้ถุนสูง ด้านข้างทางหนึ่งมีระเบียง
คนไทยแต่โบราณมีอาชีพส่วนใหญ่อยู่กับการเพาะปลูก จึงชอบสร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เพื่อใช้น้ำทำ ประโยชน์ แก่การคลองชีพได้สะดวก ถึงฤดูฝนฝนตกหนักน้ำนองพื้นดิน ถึงหน้าน้ำท่วมล้นตลิ่ง พื้นที่สำหรับบ้านจึงต้องยกสูง หรือเลือกหาเพื่อหนีน้ำ ส่วนเรือนที่ปลูกก็ต้องยกพื้นเรือนให้สูง เพื่อให้ประโยชน์จากใต้ถุนเป็นที่ประกอบกิจการประจำวัน เช่น ปั่นฝ้าย ทอหูก เป็นต้น แม้ในที่น้ำท่วมไม่ถึง ราษฎรก็ยังปลูกเรือนยกพื้นสูงอยู่เพราะในที่เช่นนั้นมักใกล้ป่าเขา มีคนอยู่ห่างๆกัน มีสัตว์ มีสัตว์ป่าสัตว์ร้ายคอยรบกวนการปลูกเรือนจึงต้องยกพื้นสูงเพื่อกันภัย อันตรายเวลาค่ำคืน อีกประการหนึ่งแผ่นดินไทยในอดีตอุดมไปด้วยป่าไม้ เรือนราษฎรจึงปลูกสร้างด้วยไม้ เพราะหาไม้ใช้ได้ง่ายสะดวกกว่าหาวัสดุอื่นๆ นอกจากนี้ คนไทยนับถือหัวเป็นของสำคัญ เพราะเข้าใจว่าเป็นที่อยู่ของมิ่งขวัญประจำตัวคน จึงไม่ยอมให้ใครกล้ำกรายหรืออยู่เหนือหัว ถือว่าเป็นอัปรีย์จัญไรที่จะมาปลูกเรือนมากกว่าชั้นเดียว แม้ต่อมาจะปลูกสร้างเรือนด้วยการก่ออิฐถือปูนก็ยังคงสร้างเป็นเรือนชั้น เดียวตามคติเดิม
การปลูกเรือนแต่เดิมมีคติถือกันว่า ถ้าปลูกเรือนขวางตะวันหรือหันข้างเรือนไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกนั้น ไม่ดี ผู้อยู่อาศัยจะไม่มีความสุข มักมีเหตุต้องเสียตาเพราะไปขวางหน้าดวงตะวัน แต่ถ้าปลูกเรือนตามตะวันหรือหันข้างเรือนไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ จะเป็นมงคลอยู่เย็นเป็นสุข หากเนื้อที่บ้านคับแคบหรือมีเหตุผลอบย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้ต้องปลูกเรือนโดยหันข้างเรือนไปตามดวงตะวัน ก็ให้ปลูกเรือนเชียงตะวันไว้คือ อย่าหันข้างเรือนตรงดวงตะวันนักเป็นอันใช้ได้ ข้อห้ามไม่ให้ปลูกเรือนขวางตะวันดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุมาจากคติความเชื่อถือที่ว่า ทิศตะวันตกเป็นทิศที่ไม่ดีเพราะเป็นทิศที่พระอาทิตย์ตกหรือลับดวงไป คนไทยจึงถือว่าตะวันตกเป็นทิศของคนตาย ถ้าจะวางศพประกอบกิจพิธีตามลัทธิเพื่อฝังเพื่อเผาต้องหันหัวศพไปทางทิศตะวัน ตกเสมอ ฉะนั้นการนอนของคนเป็นจึงถือเป็นคติสืบต่อกันมา ไม่ให้หันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก เพราะจะเป็นคนตาย แม้ทุกวันนี้คนโดยมากก็ยังยึดถือปฏิบัติกันอยู่
ฤกษ์ยามและวิธีการก่อสร้างตามความเชื่อถือแต่โบราณ
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนอ้าย ย่อมจักได้เป็นเศรษฐี ทรัพย์สินเพิ่มพูนมี เพราะเดือนนี้อุดมผล
ผู้ใดปลูกเดือนยี่ ทรัพย์สินมีมามากผลเมื่อดิถีดูชอบกล ข้าศึกและแสนกลมามากล้นพ้นศัตรู
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสาม ภัยติดตามงามน่าดูคนใจร้ายมันสู้ เมื่อถึงฤดูจักเกิดอันตราย
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสี่ ลาภมากมายมีสุขสบายทุกโศกบรรเทาหาย ความสบายเพิ่มพูนมา
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนห้าทุกข์เท่าฟ้ามาถึงตนปลูกเดือนนี้ไม่มีผลทุกข์ล้นพ้นภึยมีมท
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนหก ท่านหยิบยกไว้เหลือหลาย ทรัพย์ศฤงคารบันดาลมามากมาย อยู่สุขสบายทรัพย์เนืองนอง
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนเจ็ดทรัพย์ระเห็ดสิ้นทั้งผอง ทรัพย์สินที่ตนครองอัคคีภัยผยองมาเผาพลาญ
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนแปด จะร้อนแผดระทมหาญ ทรัพย์สินและบริวารทรยศหมดไปเอง
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนเก้า ใจไม่เศร้าเกิดบรรเลง ยศศักดิ์เกิดขึ้นเอง ทั้งทรัพย์สินเพิ่มพูนมา
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสิบ จักฉิบหายต้องขื่อคา โรคภัยร้ายก้าวหน้า อันตรายจะมาปะปน
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสิบเอ็ดอันความเท็จจักมาสู่ตน ปลูกเดือนนี้ไม่มีผลต้องผจญกับทุกภัย
ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสิบสอง เงินและทองจักเหลือหลาย สรรพสัตว์แลวัวควาย บริเวณมากมายไหลเทมาข้อห้ามในการปลูกสร้างเรือน
บันไดห้ามใช้จำนวนขั้นคู่ (ต้องเป็นขั้นคี่ นับเฉพาะขั้น ไม่นับพื้นหรือชานพัก)
บันไดไม่ลงไปทางทิศตะวันตก
ไม่หันหัวนอนในทิศตะวันตก
ไม่ทำน้ำพุน้ำตกไหลเข้าตัวเรือน
ไม่ปลูกต้นหางนกยูง ลั่นทม โศก ตรุษจีน ฯลฯ
ไม่ทำทางเข้าลอดใต้ห้องน้ำหรือห้องส้อม
ไม่ทำอาคารรูปตัว “ที” มีปีกเท่ากันส้องข้างเรียก “แร้งกระพือปีก” ถือเป็นอัปมงคล 8
ไม่ทำเรือนทะลุหน้าตลอดหลัง ถือว่าเป็น “เรือนอกแตก” เป็นอัปมงคล
ไม่ทำภูเขาจำลองไว้ในบ้าน
ห้ามใช้ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าในการปลูกเรือน
ห้ามใช้เสาตกมัน
ห้ามทำทางเข้าออกคู่ไว้ตอนมุมของพื้นดินที่ทางสามแพร่งหรือสี่แยก
ห้ามนำภาพยักษ์ไว้ในบ้าน
ห้ามนำหนังใหญ่หรือหนังตะลุงไว้ในบ้าน
ห้ามใช้ช่อฟ้า ใบระกา เครื่องวัด เครื่องหลวง หรือมีแต่เครื่องประดับชั้นสูงในบ้าน 1
ห้ามปลูกเรือนคร่อมตอ
ห้ามตั้งศาลพระภูมิใต้เงาเรือน
ไม่ปลูกต้นมะละกอใกล้ตัวบ้าน
ห้ามทำบันไดเวียนซ้ายขาขึ้น
ไม่ปลูกบ้านใต้ต้นไม้ใหญ่
ห้ามมิให้มีสัตว์ตกตายในหลุมตอม่อ
ห้ามใช้เสาไม้มีตาในระยะ “เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลักรอด หมูสี”
ห้ามวางรูปพื้นเรือนในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงรูโลงศพ
ห้ามทำเตียงนอนขาสิงห์ เครื่องใช้ขาสิงห์
ห้ามนำศพออกประตูเรือน หรือลงบันไดบ้าน(ให้ออกทางด้านฝาหุ้มกลอง เพราะสะดวกในการเคลื่อนศพ ฝาหุ้ม กลองถอดออกและประกอบใหม่ได้ )
ห้ามนำของวัดเข้าบ้านหรือมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน
ห้ามทำทางเข้าเวียนซ้ายของอาคาร
ที่มาhttp://www.baanjomyut.com/library
บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน
อะไรไหล? สงกรานต์ วันไหลบางแสน พัทยา
ข้อมูล โดยสังเขบของวันไหลบางแสน
บทความ »
ศาลเจ้าจีน เก๋งจีน เก๋ง คืออะไร
กระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบจีน เราก็ผลิตขายมานานแล้วอ่ะนะ แต่ เก๋ง ในคำว่าเก๋งจีนที่เรียกอาคารศาลเจ้ากันเนี้ย ใช่เก๋งเดี่ยวกับรถเก๋งมั้ยน้าา?
บทความ »
กระเบื้องดินเผา กับบ้านแบบใหม่ๆ
กระเบื้องดินเผากับผนัง บ้าน ได้เป็น ผนังอิฐโชว์ สวยๆ สไตร์ ลอฟ์ท
บทความ »
เรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยภาคกลางที่เป็น เรือน หอ ของครอบครัวที่ก่อสร้างลงตัวขึ้นใหม่ ประกอบด้วยเรือนนอนซึ่งมีห้องนอนและห้องโถงหนึ่งหลังเรือนมี 3 ช่วงเสา 2 ช่วงเสาเป็นห้องนอน
บทความ »
กระเบื้องหลังคาดินเผา งงกับชื่อ
ชื่อกระเบื้องสุโขทัย มีมานานมากจนไม่ทราบได้ว่าเกี่ยวข้องอย่างใดกับ จ.สุโขทัยหรือไม่
บทความ »
สีหลังคามีความหมาย
การมุงกระเบื้องหลังคาก็สลับสีอย่างสวยงามมีความหมายและเป็นเอกลักษณ์ของวัดไทยที่ไม่เหมือนใคร
บทความ »
กระเบื้องดินเผามุงหลังคา ช่วยให้บ้านเย็น
เคยสงสัยกันมั้ยว่าทำไมเวลาเข้าวัดไหว้ขอพร จากพระประธาน จะมีความรู้สึกว่าเย็นกายเย็นใจ โดยเฉพาะเวลากลางวันที่..
บทความ »